MOAB มีอานุภาพร้ายแรงแค่ไหน
กองทัพสหรัฐฯ เพิ่งทิ้งระเบิด GBU-43/B ทำลายเครือข่ายอุโมงค์ใต้ดิน ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มที่เรียกตนเองว่ารัฐอิสลาม (ไอเอส) ในจังหวัด นานกาฮาร์ของอัฟกานิสถาน โดยระเบิดดังกล่าวเป็นระเบิดที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ซึ่งมีอานุภาพทำลายล้างรุนแรงที่สุด และมีขนาดใหญ่ที่สุด เท่าที่เคยใช้ในการรบมา
ระเบิด GBU-43/B เป็นระเบิดขนาดมหึมา ความยาว 9 เมตร น้ำหนัก 9,800 กิโลกรัม และใช้ระบบนำทางจีพีเอส โดยเครื่องบินขนส่ง MC-130 จะเป็นพาหนะในการหย่อนระเบิดซึ่งจะจุดชนวนขึ้นก่อนที่ระเบิดจะตกถึงพื้นดินเพียงไม่กี่อึดใจ ระเบิดแรงอัดอากาศขนาดยักษ์ Massive Ordnance Air Blast Bomb-MOAB นี้จะเคลื่อนตัวจากเครื่องบินขนส่ง พร้อมฐานรองและใช้ชูชีพเป็นตัวกระตุกให้ระเบิดร่อนลง โดยหางซึ่งมีลักษณะคล้ายใบพัดสี่แฉกจะเป็นตัวนำทางให้ร่อนลงโดยไม่ผิดทิศทาง
แม่ของระเบิดทั้งมวลนี้สามารถแผ่คลื่นอัดอากาศจำนวนมหาศาลกระจายไปได้ในทุกทิศทางราว 1 ไมล์ อันเป็นผลมาจากแรงระเบิดทีเอ็นทีขนาด 18,000 ปอนด์ ขณะที่ตัวระเบิดทำจากอะลูมิเนียมบางซึ่งออกแบบมาเพื่อให้แรงระเบิดแผ่รัศมีไปในวงกว้างมากที่สุด มุ่งเป้าทำลายสิ่งก่อสร้าง และอุโมงค์ใต้ดิน
อาวุธชนิดนี้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในสงครามอิรัก โดยบริษัท Dynetics ในรัฐแอละบามา มีรายงานว่าต้นทุนในการผลิตอยู่ที่ลูกละ 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีการทดสอบระเบิดดังกล่าวเมื่อปี 2003 แต่ไม่เคยนำมาใช้จริงกระทั่งวันนี้ และเนื่องจากไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์ ดังนั้นการทิ้ง ระเบิด MOAB จึงไม่จำเป็นต้องได้รับอนุมัติจากประธานาธิบดี
ในส่วนของรัสเซียได้พัฒนาระเบิดขนาดมหึมาที่มีชื่อเรียกว่า "พ่อแห่งระเบิดทั้งมวล" (Father of All Bombs) เป็นระเบิดที่เชื้อเพลิงอากาศ ซึ่งมีชื่อในทางเทคนิคว่า THERMOBARIC การทำงานของระเบิดประเภทนี้มีสองขั้น ขั้นแรกจะเป็นการระเบิดขนาดเล็กเพื่อปลดปล่อย กลุ่มหมอกวัตถุระเบิดไปทุกทิศทางและขั้นที่สองจะมีการจุดชนวนระเบิด ทำให้เกิดคลื่นอัดอากาศที่มีอานุภาพทำลายล้างรุนแรงแผ่ไปเป็นวงกว้าง
ที่มา
http://www.bbc.com/thai/international-39596958
ดูข้อมูลเพิ่มได้ที่