top of page

ผู้ปกครองต้องฟัง!!! 5 ป้อง 5 หยุด ลดพฤติกรรมเด็กแกล้งกัน


ล่วงเลยเวลาเปิดภาคเรียนใหม่มาร่วมเดือนแล้ว พ่อแม่หลายคนอาจประสบกับปัญหาลูก ๆโดนเพื่อนกลั่นแกล้ง วันนี้ “Thai quote” มีคำแนะนำดี ๆ จากกรมสุขภาพจิตมาฝาก ถึงวิธีการปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่าการกลั่นแกล้งหรือรังแกกันในโรงเรียน เป็นพฤติกรรมรุนแรงอย่างหนึ่งที่มีทั้งการข่มเหงรังแกทางกาย อารมณ์ คำพูด และทางอินเตอร์เน็ตหรือสังคมออนไลน์ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่พบบ่อยมาก แต่มักถูกมองข้ามในสังคมไทย และพบว่าร้อยละ 40-80 ของเด็กวัยเรียนเคยถูกรังแกอย่างน้อย 1 ครั้งตลอด

ทั้งนี้ผลกระทบของการข่มเหงรังแกกันในโรงเรียนทำให้เด็กที่ถูกรังแก มีอารมณ์ซึมเศร้าหรือวิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ ซึ่งปัญหานี้อาจยังคงอยู่จนถึงวัยผู้ใหญ่รวมทั้งอาการทางกายส่งผลกระทบต่อการเรียน และมีความเสี่ยงสูงที่จะกลายเป็นผู้รังแกคนอื่นในอนาคต

สำหรับวิธีป้องกันลูกจากการถูกรังแกสามารถปฏิบัติได้ 5 วิธีด้วยกันคือ 1. ชวนลูกพูดคุยถึงเรื่องของโรงเรียนหรือการเรียนและเรื่องของการถูกรังแก โดยยกประสบการณ์คนในครอบครัวให้เด็กฟัง ซึ่งหากเคยเกิดขึ้นกับเด็กก็จะเป็นโอกาสให้เด็กเล่าให้ผู้ปกครองฟัง พร้อมกับให้กำลังใจเด็ก ปรึกษากับคุณครูที่โรงเรียนเพื่อหาวิธีการที่โรงเรียนจะรับรู้เรื่องนี้และให้การช่วยเหลือเด็ก 2.กำจัดตัวล่อของการถูกรังแก 3. ให้ทำกิจกรรมโดยมีเพื่อนอยู่ด้วย อย่างน้อย 2 คนขึ้นไปซึ่งมีโอกาสที่จะถูกรังแกได้น้อยกว่าการอยู่คนเดียว 4.ฝึกการแสดงออกทางอารมณ์และดำเนินชีวิตเป็นปกติ ไม่แสดงอารมณ์หรือปฏิกิริยาโต้ตอบต่อการกระทำนั้นๆ และ 5.อย่าต่อสู้กับเรื่องนี้ด้วยตัวเองตามลำพัง พ่อแม่ควรพูดคุยกับผู้ปกครองของเด็กที่เป็นผู้รังแก โดยควรมีคุณครูหรือนักจิตวิทยาโรงเรียนเข้าร่วมพูดคุยด้วย

นอกจากนี้ยังมี 5 วิธีหยุดพฤติกรรมในทางตรงกันข้าม หากลูกของคุณอาจเป็นผู้ที่รังแกเพื่อนเอง ก็อาจช่วยลูกให้หยุดรังแกเพื่อน ได้แก่ 1. สอนให้เด็กรู้ว่าการรังแกผู้อื่นเป็นพฤติกรรมรุนแรงที่ไม่ได้รับการยอมรับทั้งจากผู้ปกครองในบ้านและในสังคมภายนอก ตั้งกฎที่ชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กจะถูกลงโทษหากรังแกเพื่อนและเข้มงวดกับกฎนั้น 2. สอนให้เด็กเคารพสิทธิของผู้อื่นและปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสม 3.หาข้อมูลเกี่ยวกับเหตุที่ทำให้เด็กรังแกเพื่อนทั้งในด้านครอบครัวและสิ่งแวดล้อมที่โรงเรียนโดยปรึกษาคุณครู นักจิตวิทยาโรงเรียน หรือกลุ่มผู้ปกครองในการหาทางแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน 4.ชมเชยหรือให้รางวัล เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ดี สามารถแก้ไขความขัดแย้งโดยใช้วิธีทางบวกและสร้างสรรค์ และ 5. เป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็ก ไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนก่อนที่จะพูดหรือกระทำการใด ๆกับเด็ก ถ้าผู้ปกครองแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวต่อหน้าเด็ก เด็กจะมีพฤติกรรมเลียนแบบ ควรแสดงให้เด็กเห็นว่าการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร

สุดท้ายคอเรื่องของการสร้างความเข้าใจ สร้างความอบอุ่นในครอบครัว รวมถึงการใส่ใจดูแลลูกของคุณหรือควรมีช่วงเวลาให้กับการทำกิจกรรมร่วมกันของครอบครัว ซึ่งเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด โดยรวมไปถึงปัญหาครอบครัวในเรื่องอื่นๆด้วย

ที่มา : Thaiquote ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค Thaiquote.org https://www.facebook.com/thaiquote.org ทวิตเตอร์ @ThaiQuoteORG

รับข้อมูลเพิ่มเติมฟรี


Recent Posts
bottom of page