top of page
ค้นหา

รู้ไว้ใช่ว่า!โซเชียลมีเดีย ภัยเงียบสุดอันตราย

  • รูปภาพนักเขียน: aksorn boonchalee
    aksorn boonchalee
  • 23 มี.ค. 2560
  • ยาว 1 นาที

จากผลสำรวจความคิดเห็นกลุ่มวัยรุ่นไทยในเขตกทม.และปริมณฑล ของสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามในเรื่องเกี่ยวกับปัญหาการถูกล่อลวงผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ พบว่าประชาชนร้อยละ 50.82 เชื่อว่าปัญหาการถูกล่อลวงผ่าน social media มีแนวโน้มสูงขึ้น

ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส สำนักสยามโพลล์ เปิดเผยว่าปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมขณะนี้คือคือปัญหาการล่อลวง ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ของกลุ่มวัยรุ่นในการติดต่อสื่อสาร โดยมักเกิดกับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนซึ่งเหยื่อส่วนใหญ่คือกลุ่มผู้ใช้งานที่เป็นผู้หญิง โดยผลของการล่อลวงเพื่อนำไปกักขังหน่วงเหนี่ยวและมีเพศสัมพันธ์

ทั้งนี้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 51.08 และเพศชายร้อยละ 48.92 โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 19 ถึง 22 ปี มีความคิดเห็นว่าสาเหตุสำคัญสูงสุด 5 อันดับที่ทำให้เกิดการล่อลวงผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์คือ 1.ความต้องการหาเพื่อนพูดคุย คิดเป็นร้อยละ 83.18 2.ขาดความอบอุ่น/การดูแลจากคนใกล้ชิดคิดเป็นร้อยละ 80.67 3.ความเหงาที่ต้องอยู่ตามลำพังคิดเป็นร้อยละ 77.91 4.การหลงเชื่อคนง่าย/มองโลกในแง่ดีคิดเป็นร้อยละ 75.06 และ 5.การขาดความรอบคอบ/ยั้งคิดคิดเป็นร้อยละ 72.13

ขณะเดียวกันพบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 74.81 ยอมรับว่าภายในระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมามีการติดต่อพูดคุยกับผู้ที่รู้จักกันผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์โดยที่ยังไม่เคยพบหน้ากัน และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งคือร้อยละ 55.59 ยอมรับว่าตนเองติดต่อพูดคุยกับคนที่ไม่รู้จักกันมากกว่าหนึ่งคน

นอกจากนี้ยังพบอีกว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 19.84 ยอมรับว่าจะไปพบ หากผู้ที่ตนเองรู้จักผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ต้องการนัดให้ตนเดินทางไปตามลำพังเพื่อพบหน้ากัน

อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.21 ยอมรับว่าตนเองรู้สึกกลัวถูกล่อลวงจากบุคคลที่รู้จักกันผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์โดยที่ยังไม่เคยพบหน้ากัน

ในด้านแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 48.75 มีความคิดเห็นว่าการจำกัดอายุผู้ที่สามารถใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์จะมีส่วนช่วยลดปัญหาการถูกล่อลวงผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 53.84 มีความคิดเห็นว่าการเพิ่มโทษกับผู้ที่ล่อลวงผู้อื่นผ่านระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์ให้หนักขึ้นจะมีส่วนช่วยให้ปัญหาลดลง

สุดท้ายแล้วแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือการสร้างความคุ้มกันการรู้เท่าทันต่อเทคโนโลยี การดูแลเอาใจใส่ของคนในครอบครัว โดยบุคคลที่มีส่วนช่วยเตือนสติให้ระมัดระวังได้มากที่สุด คือ พ่อแม่ผู้ปกครอง รองลงมาคือ ครูอาจารย์/หัวหน้างาน และเพื่อน นอกจากนี้การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการช่วยเหลือด้วยเช่นกัน

ที่มา : Thaiquote ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค Thaiquote.org https://www.facebook.com/thaiquote.org ทวิตเตอร์ @ThaiQuoteORG


 
 
 
Recent Posts

© 2023 by Kathy Schulders. Proudly created with Wix.com 

  • Grey Twitter Icon
bottom of page