top of page

คนไทยยุคใหม่กับความเข้าใจ“พร้อมเพย์”

คนไทยยุคใหม่อย่าคิดไปเอง มาไข 10 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “พร้อมเพย์”

หลังจากเปิดให้ใช้บริการอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 27 มกราคม ที่ผ่านมา “พร้อมเพย์” บริการรับ-โอนเงินรูปแบบใหม่กลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์ที่บรรดาชาวเน็ตออกมาแสดงความคิดเห็นทั้งในด้านดี และด้านลบ ซึ่งหลายคนคงได้รับฟังการอธิบายจากผู้รู้ข้อมูลจริงและที่รู้ไม่จริงเกี่ยวกับระบบพร้อมเพย์กันมามากพอสมควร ซึ่งหากฟังคำอธิบายจากผู้รู้ไม่จริงก็คงจะเกิดเป็นความเข้าใจผิด... อย่างไรก็ตามคนไทยยุคใหม่อย่าคิดไปเอง วันนี้มาสร้างความเข้าใจให้ถูกต้องกับ 10 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “พร้อมเพย์”

1. พร้อมเพย์บังคับลงทะเบียน?

ไม่บังคับ พร้อมเพย์เป็นบริการทางเลือกให้ประชาชน โดยทุกคนไม่จำเป็นต้องมาลงทะเบียน แต่ผู้ที่มีการโอนเงินรับเงินบ่อยๆ ควรมาลงทะเบียนใช้พร้อมเพย์ เพราะจะได้รับประโยชน์จากค่าธรรมเนียมที่ถูกลงมาก และไม่มีกำหนดปิดลงทะเบียนอย่างไรก็ดี บริการโอนเงินแบบเดิมก็ยังมีอยู่ การใช้พร้อมเพย์ บริการรับ-โอนเงินระหว่างบุคคลมีค่าธรรมเนียม ดังนี้

โอนเงินไม่เกิน 5,000 บาท ค่าธรรมเนียมฟรี/รายการ

โอนเงินมากกว่า 5,000 – 30,000 บาท ค่าธรรมเนียมไม่เกิน 2 บาท/รายการ

โอนเงินมากกว่า 30,000 – 100,000 บาท ค่าธรรมเนียมไม่เกิน 5 บาท/รายการ

โอนเงินมากกว่า 100,000 – วงเงินสูงสุดที่แต่ละธนาคารกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 10 บาท/รายการ

2. ถ้าไม่ลงทะเบียนก็ไม่สามารถใช้บริการได้?

สำหรับผู้โอนเงิน ถึงแม้ว่าไม่ได้ลงทะเบียนก็สามารถโอนเงินด้วยบริการพร้อมเพย์ได้ แต่ผู้รับโอนต้องลงทะเบียนใช้บริการพร้อมเพย์แล้ว ผู้โอนเงินจึงสามารถโอนผ่านพร้อมเพย์ได้ ด้วยค่าธรรมเนียมที่ถูกลงได้ ส่วนผู้รับโอนเงิน จะต้องลงทะเบียนเพื่อผูกบัญชีธนาคารของตนเองกับหมายเลขโทรศัพท์มือถือหรือเลขประจำตัวประชาชนก่อน และแจ้งหมายเลขดังกล่าวให้ผู้โอนทราบ เพื่อรับเงินเข้าบัญชีที่ได้ผูกไว้

3. ระบบและการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ มีความปลอดภัยหรือไม่?

ระบบพร้อมเพย์ ได้ถูกพัฒนาต่อยอดจากระบบโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ฉะนั้นความปลอดภัยจึงเป็นเหมือนระบบโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ส่วนเรื่องการโอนเงินผ่าน พร้อมเพย์ ผู้โอนจะต้องผ่านกลไกการรักษาความปลอดภัยตามปกติของช่องทางที่เลือก เช่น ถ้าโอนผ่านระบบ เอทีเอ็ม (ATM)ก็ต้องใช้บัตรเอทีเอ็ม กับรหัสผ่าน หรือถ้าใช้อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง(Internet Banking) ก็ต้องใช้ยูสเซอร์เนม (Username) กับรหัสผ่าน (Password) และรหัส OTP นอกจากนี้ก่อนที่จะทำรายการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ได้ก็ต่อเมื่อ Log in เข้าไปได้แล้ว จึงเลือกว่าจะโอนเงินไปให้บุคคลอื่นผ่านหมายเลขโทรศัพท์มือถือ หรือเลขประจำตัวประชาชน

4. หากผู้อื่นรู้หมายเลขโทรศัพท์มือถือ หรือเลขประจำตัวประชาชนของเราหรือหากโทรศัพท์มือถือหาย ผู้อื่นจะสามารถนำเงินออกจากบัญชีเราได้?

ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการผูกบัญชีกับเลขประจำตัวประชาชนหรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือนั้น ทำเพื่อให้รับเงินได้สะดวก ส่วนการโอนเงินออกจากบัญชีไม่มีอะไรเปลี่ยนจากเดิม หากโอนโดยใช้ Mobile Banking (โมบายแบงก์กิ้ง)หรือ Internet Banking (อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง) ก็ต้องมี ยูสเซอร์เนม (Username) / รหัสผ่าน (Password) หรือหากโอนที่ตู้เอทีเอ็ม ก็ต้องมีบัตรเอทีเอ็ม และรหัสผ่าน จึงจะโอนเงินออกไปได้ หรือการถอนเงินที่สาขา ก็ต้องมีลายเซ็น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับ เลขประจำตัวประชาชนหรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือแต่อย่างใด

5. ถ้าเปลี่ยนหรือเลิกใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือโดยที่ยังไม่ได้แจ้งเปลี่ยนเบอร์กับธนาคาร แล้วค่ายโทรศัพท์เอาไปขายใหม่ ข้อมูลและเงินจะไม่ปลอดภัย?

ในกรณีที่หมายเลขโทรศัพท์มือถือกลายเป็นของคนอื่นไปแล้ว เจ้าของเบอร์คนใหม่จะไม่สามารถนำเงินออกจากบัญชีเราได้ เนื่องจากการเข้าใช้ระบบพร้อมเพย์ต้องมีรหัสผ่านของตัวเองจึงจะใช้ได้นอกจากนี้เจ้าของเบอร์คนใหม่ยังไม่สามารถนำหมายเลขโทรศัพท์มือถือนั้นๆ ไปผูกกับบัญชีพร้อมเพย์ของเขาได้ เพราะหมายเลขโทรศัพท์มือถือยังผูกกับบัญชีของเราอยู่ ดังนั้นรีบแจ้งยกเลิกหรืออัพเดทข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์มือถือกับธนาคารทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง

6. ถ้าหมายเลขโทรศัพท์มือถือถูกระงับการใช้งาน ก็ไม่สามารถใช้บริการพร้อมเพย์ได้?

แม้ว่าหมายเลขโทรศัพท์มือถือถูกระงับการใช้งาน ก็สามารถโอนเงินเข้าสู่บัญชีของคุณผ่านหมายเลขโทรศัพท์มือถือได้ตามปกติ เนื่องจากหมายเลขโทรศัพท์มือถือนั้นเป็นแค่หมายเลขอ้างอิงที่ใช้แทนเลขที่บัญชี เพื่อความสะดวกและปลอดภัย เพราะเราไม่ต้องบอกเลขบัญชีหรือชื่อธนาคารที่เราใช้บริการอยู่ให้คนอื่นรู้ อย่างไรก็ตามควรตรวจสอบให้แน่ชัดกับทางค่ายโทรศัพท์มือถือว่าหมายเลขนี้ยังเป็นของเราอยู่หรือไม่ หากค่ายโทรศัพท์นำไปขายใหม่และมีคนซื้อไปใช้แล้ว และหมายเลขนี้ยังผูกกับบัญชีของเราอยู่ จะทำให้เจ้าของเบอร์คนใหม่ไม่สามารถใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือนี้ผูกกับบัญชีของเขาได้

7. แค่ใส่หมายเลขโทรศัพท์มือถือหรือเลขประจำตัวประชาชนผิด ก็โอนผิด

หากหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่เราใส่ลงไปยังไม่ได้ถูกนำไปผูกกับพร้อมเพย์ ก็จะมี SMS ส่งมาให้เราว่าหมายเลขนี้ยังไม่ได้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ โอนไปไม่ได้ แต่ถ้าหมายเลขนั้นถูกนำไปลงทะเบียนพร้อมเพย์แล้ว พอเรากดดำเนินการต่อ หน้าจอจะขึ้นชื่อของเจ้าของบัญชี หากเราเห็นว่าผิดคนเราก็สามารถกดยกเลิกได้ แต่หากเราไม่ทันดูและกดยืนยันไปแล้ว โอนเสร็จแล้วถึงมารู้ว่าโอนผิดหมายเลขก็แจ้งธนาคารพร้อมกับส่งหลักฐานการโอนเงินมา ธนาคารก็จะดำเนินการเอาเงินกลับคืนมาให้

8. ข้อมูลส่วนตัวจะรั่วไหลได้ง่าย?

ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการมีความปลอดภัยสูง ธนาคารหรือ NITMX ไม่สามารถนำข้อมูลลูกค้ามาเปิดเผยหรือขายต่อได้ โดยมีกฎหมาย พ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันการเงิน และ พ.ร.ฎ. ควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ควบคุมอยู่ ซึ่งธนาคารและ NITMX (ผู้ให้บริการระบบกลางพร้อมเพย์ของประเทศ ที่มีระบบปิดที่มีการดูแลรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล)ได้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด และ ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการตรวจสอบกำกับดูแลสม่ำเสมอนอกจากนี้ข้อมูลการชำระเงินที่เก็บอยู่ในระบบกลาง มีระบบการรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล โดยจะถูกเข้ารหัสความปลอดภัยทั้งหมด

9. มีความเสี่ยงในการโอนผิดสูง?

บริการพร้อมเพย์จะแสดงชื่อผู้รับโอนทุกครั้ง และผู้โอนควรตรวจสอบชื่อผู้รับปลายทางให้ถูกต้องก่อนยืนยันการโอน และในกรณีที่มีคนโอนเงินเข้ามาที่บัญชีของเราด้วยความผิดพลาด คนที่ติดต่อมาแจ้งเราว่ามีคนโอนเงินมาผิด จะต้องเป็นธนาคารที่เราใช้บริการเท่านั้น ซึ่งต้องตรวจสอบบัญชีให้แน่ใจว่ามีการโอนผิดจริงแล้วจึงตกลงให้โอนเงินกลับไป โดยธนาคารจะทำการตัดเงินจากบัญชีของเรากลับไปบัญชีของคนที่โอนมาโดยตรง ซึ่งจะไม่มีการคืนเป็นเงินสด หรือให้เราทำการโอนกลับไปเอง หากมีคนโทรมาบอกให้เราช่วยโอนเงินกลับไปให้ ต้องรีบแจ้งให้ธนาคารที่เราใช้บริการเช็คก่อนว่าเป็นความจริงรึเปล่า ถ้าเป็นความจริงธนาคารจะดำเนินการต่อไปเอง

10. พร้อมเพย์ทำให้ข้อมูลส่วนตัวถูกตรวจสอบจากสรรพากรได้?

หากสรรพากรอยากจะตรวจการจ่ายภาษีของใคร ไม่จำเป็นต้องมีพร้อมเพย์ก็ทำได้ เพราะธนาคารที่ประชาชนเปิดบัญชีด้วยย่อมมีข้อมูลอย่างเลขประจำตัวประชาชนและหมายเลขโทรศัพท์มือถือของลูกค้าทุกคนอยู่แล้ว ตั้งแต่ลูกค้าเดินเข้ามาเปิดบัญชีกับธนาคารนั้นๆ แต่อยู่ๆ ธนาคารจะเปิดเผยข้อมูลของลูกค้าไม่ได้ แม้แต่กับภาครัฐ เพราะมีกฎหมาย พ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันการเงินควบคุมอยู่ ธนาคารจะทำการตรวจเช็คบัญชีของลูกค้าได้ก็ต่อเมื่อมีคำสั่งทางกฎหมาย เช่น หมายศาล หมายแจ้งความ ส่งมาเท่านั้น

ที่มา http://www.komchadluek.net/advertorial/advertorial/230895

Recent Posts
bottom of page