‘อาก้า’ ทูตมรณะ
อาวุธปืนที่ได้รับการชูหัวแม่โป้งจากนักรบค่อนโลกว่า “ไร้เทียมทาน” คือ ปืนเล็กยาวจู่โจมอาก้า นวัตกรรมที่ลงตัวระหว่างโลหะและไม้ จนกลายเป็นเครื่องมือสังหารที่ทรงอานุภาพ ประมาณกันเล่นๆ ว่ามีปืนอาก้าแพร่กระจายอยู่บนโลกนี้ราว 100 ล้านกระบอก
ในช่วงสงครามปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย และสมรภูมิเลือดอินโดจีน (เวียดนาม ลาว เขมร) คนที่ถืออาวุธปืนอาก้าจะถูกกำหนดว่าเป็นข้าศึกเสมอ
ข่าวการสู้รบของกลุ่มต่างๆ ในทุกพื้นที่ของโลก ราว 60 ปีที่ผ่านมาจนปัจจุบันจะปรากฏชัดที่นักรบจำนวนมากใช้ปืนเล็กยาวอาก้า
ผู้เขียนขอนำเสนอประวัติของปืนอาก้าครับ
11 พฤศจิกายน พ.ศ.2461 เยอรมันประกาศยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 หลังจากนั้นชนเผ่าเยอรมันคนเก่งเร่งเสริมสร้างความแข็งแกร่งขึ้นมาใหม่แบบไม่เกรงกลัวชนชาติใด เยอรมันทุ่มเทเรื่องอุตสาหกรรมหนักทั้งปวง เรือรบ เรือดำน้ำ เครื่องบิน รถถัง อาวุธทุกชนิดและเรื่องฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพียง 20 ปีเยอรมันก็กลับมาผงาดในทุกมิติ รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีอาวุธปืนทุกชนิด กระสุนทุกขนาด และเมื่อทุกอย่างพร้อม 1 กันยายน พ.ศ.2482 ฮิตเลอร์สั่งกองทัพนาซีเยอรมันบุกโปแลนด์แบบโลกตะลึง
22 มิถุนายน พ.ศ.2484 ฮิตเลอร์ไม่เชื่อเสียงทัดทานจากฝ่ายเสนาธิการ ผู้นำนาซีเปิดแนวรบใหม่ ส่งกองทัพบุกเข้าดินแดนหมีขาวรัสเซีย กองทัพแดงของรัสเซียมีอาวุธยุทโธปกรณ์และความพร้อมรบด้อยกว่าเยอรมันหลายขุม จึงใช้วิธี “รบหน่วงเวลา” สู้พลางถอยพลาง รอฤดูหนาวที่แสนจะโหดร้ายทารุณ
กองทัพเยอรมันบุกตะลุยทำลายล้างทุกอย่างในแผ่นดินรัสเซีย ชาวรัสเซียหญิงชายทุกคนสู้ยิบตา
เด็กหนุ่มชาวนารัสเซีย ที่อยู่ทางตอนใต้ของแคว้นไซบีเรีย ชื่อ มิกคาอิล คาลาชนิคอฟ (Mikhail Kalashnikov) เรียนหนังสือเพียงระดับพื้นฐาน
เลือดรักชาติฉีดแรง ไปสมัครเป็นพลทหารในหน่วยรถถังของกองทัพแดง (สหภาพโซเวียต) ที่กำลังสู้รบกับกองทัพนาซี พลทหารคาลาชนิคอฟมีพรสวรรค์และถนัดในเรื่องเครื่องจักร เครื่องยนต์กลไก ทำหน้าที่ทหารรถถังปกป้องปฐพีด้วยอุดมการณ์จนกระทั่งได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บังคับรถถัง (ยศระดับจ่า)
ในระหว่างสงคราม จ่าคาลาชนิคอฟบาดเจ็บเพราะถูกยิง ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ในเวลานั้นทหารในกองทัพแดงทราบดีว่า อาวุธของกองทัพเยอรมันมีประสิทธิภาพยอดเยี่ยม กองทัพแดงของโซเวียตจึงเร่งพัฒนาอาวุธโดยเฉพาะปืนเล็กยาวที่จะให้ทหารราบและทหารม้าของโซเวียตใช้ยิงสู้กับทหารเยอรมัน จ่าคาลาชนิคอฟที่กำลังรักษาตัวในโรงพยาบาลโดดเข้าร่วมโครงการปรับปรุงอาวุธของกองทัพโซเวียต
จ่าได้นำปืน StG 44 หรือ MP 44 ของหน่วยทหาร SS ที่ทหารนาซีใช้ยิงเขามาเป็นต้นแบบ จ่าฯทำงานแบบเอาเป็นเอาตาย ผลการทำงานที่สำเร็จเป็นรูปธรรม คือปืนเล็กยาวแบบใหม่ที่มีความร้ายกาจเท่ากับปืนของทหารเยอรมัน
กองทัพรัสเซียใช้ผลงานของจ่าผลิต AK-46 เป็น “ต้นแบบ” ซึ่งตัวปืนยังมีน้ำหนักมาก
จ่าคาลาชนิคอฟมุ่งมั่นทำงานต่อไปเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำหนักปืนและกลไกทางเทคนิค โดยประยุกต์ AK-46 ผสมผสานเข้ากับ SKS (เรียกกันง่ายๆ ว่า ปืนเซกาเซ) ในที่สุด มันคือ ทูตมรณะ AK-47
AK-47 ของจ่าคาลาชนิคอฟได้รับการยอมรับว่าเป็นอาวุธที่ยอดเยี่ยม กองทัพโซเวียตจึงเริ่มสายการผลิตและแจกจ่ายในปี พ.ศ.2482 และเพื่อเป็นเกียรติแก่จ่าอัจฉริยะแห่งกองทัพโซเวียต ทางราชการจึงตั้งชื่อปืนเล็กยาวชนิดนี้แบบย่อว่า AK-47 ย่อมาจาก Kalashnikov Automatic rifle, model of 1947 (ภาษารัสเซีย : Автомат Калашникова 47) เรียกกันในชื่อว่า Avtomat Kalashnikova ซึ่งหมายถึง ปืนเล็กยาวอัตโนมัติของคาลาชนิคอฟ ปี 1947 เลข 47 เป็นเลขปี ค.ศ.ที่ผลิต สำหรับคนไทยสะดวกปากเรียกว่า ปืนอาก้า มานานแสนนาน
ในสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพนาซีเยอรมันใช้อาวุธปืนอัตโนมัติทันสมัยหลายรุ่น ตั้งแต่ปืนเล็กยาว เมาเซอร์ คาร์ 98 เคิร์ซ (Kar98K) ปืนกลมือ MP-40 ปืนกลเบา MG-34 และปืนกลเบา MG-42
เรื่องทางเทคนิคที่กองทัพแดงสนใจมากที่สุด คือ การพัฒนาขนาดของกระสุนที่เดิมเคยใช้ขนาด 7.62×41 มม. ต่อมากองทัพแดงเปลี่ยนเป็นขนาด 7.62×39 มม. ตามแบบของเยอรมัน
AK-47 ได้รับการยอมรับว่าเป็นปืนเล็กยาวที่มีความทนทาน ไม่มีกลไกสลับซับซ้อน ไม่มีชิ้นส่วนมาก ต้นทุนการผลิตต่ำ และง่ายในการใช้งาน สามารถลอกเลียนแบบได้ไม่ยาก คุณสมบัติตรงนี้ทำให้มันกลายเป็นปืนเล็กยาวที่แพร่หลายมากที่สุดในโลก โซเวียตให้ใบอนุญาตไปผลิตมากกว่า 10 ประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศวอร์ซอแพค กลุ่มประเทศในระบบสังคมนิยม อาก้าเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มนักรบและขบวนการเคลื่อนไหวระดับโลก
ทูตมรณะ AK-47 อาก้า ไปสำแดงเดชยุคแรกในสงครามเกาหลี (พ.ศ.2493) ต่อมาไปแสดงฤทธิ์เดชสังหารข้าศึกอย่างได้ผลในสมรภูมิเวียดนาม (เริ่มใน พ.ศ.2508) ทหารเวียดกง (ของเวียดนามเหนือ) นักรบใต้ดินที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต และจีนแผ่นดินใหญ่ถือปืนอาก้าเป็นหลัก ส่วนทหารสหรัฐ ทหารเวียดนามใต้ และพันธมิตรของสหรัฐรวมทั้งทหารไทยใช้ปืน M16 นรกเวียดนามจึงเปรียบเสมือนเป็นการวัดประสิทธิภาพของปืนจาก 2 ค่ายใหญ่ คือ โลกเสรีและโลกคอมมิวนิสต์
AK-47 ใช้กระสุนขนาด 7.62 มม. ทำงานด้วยระบบแก๊สและเลือกการยิงได้ทั้งแบบทีละนัดและออโตเมติก กระสุนขนาด 7.62 มม.จะสร้างความเสียหายได้มาก เนื่องจากหัวกระสุนจะบดขยี้เมื่อผ่านเข้าไปในเนื้อเยื่อของเป้าหมาย แต่ก็สร้างความเสียหายได้เล็กน้อยหากมันทะลุออกไปเสียก่อน
AK-47 มีน้ำหนักเบา สั้นกะทัดรัด สามารถถอดล้างในสนามรบได้ง่าย เปียกน้ำ เปื้อนทราย ทิ้งไว้ในป่าหมกในดิน เปื้อนโคลน นักรบทั้งหลายทำความสะอาดเล็กน้อยก็เป็นอาวุธสังหารได้แบบไม่จุกจิกงอแง อัตราการยิง 600 นัด/นาที ระยะหวังผล 250 เมตร แม็กกาซีนมีแบบ 30 นัดโค้งงอเหมือนกล้วยหอม และแบบตลับกลม 70 นัด
เสน่ห์อันร้อนแรงของอาก้า คือ การทดลองนำปืนอาก้าไปแช่น้ำ แช่โคลน ฝังในดิน แล้วหยิบขึ้นมายิง อาก้าไม่เคยทำให้ใครผิดหวัง
นักรบที่ไล่ล่ากันในสมรภูมิทะเลทราย กินอยู่หลับนอนบนทรายและสังหารกันในทะเลทราย ต่างยกนิ้วให้ AK-47 ที่ไม่ต้องใส่ใจปรนนิบัติบำรุงให้หงุดหงิดใจ
ในปี พ.ศ.2502 กองทัพโซเวียตนำ AK-47 มาปรับปรุงระบบกลไกให้ดีขึ้น และเรียกในชื่อใหม่ว่า A.K.M. (AKM : Avtomat Kalashnikova Modernizirovannyj หรือ Kalashnikov Automatic rifle, Modified) ซึ่งปืนรุ่นนี้จะมีการปั๊มขึ้นรูปโครงปืนด้วยเครื่องจักร ปืนมีน้ำหนักเบา พานท้ายทำจากพลาสติก แม็กกาซีนทำด้วยพลาสติก
ส่วนรุ่น AKS-47 ตัวปืนเป็นอาก้า ส่วนพานท้ายเป็นเหล็กพับได้ (อักษร S คือ SKLADNOY แปลว่า พับ) เป็นรุ่นยอดนิยมของนักรบอีกเช่นกัน
กองทัพโซเวียตไว้วางใจให้คาลาชนิคอฟเป็นวิศวกรในโรงงานผลิตอาวุธเกือบทั้งชีวิต ผลิตอาวุธต่อยอดมาจาก AK-47 อีกหลายแบบ เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษของชาติ และได้รับการแต่งตั้งยศเป็น พลโท เมื่ออายุ 75 ปี
พ.ศ.2551 ในช่วงบั้นปลายชีวิต นายพลคาลาชนิคอฟมีความรู้สึกไม่สบายใจและกล่าวว่า เป็นเรื่องที่เจ็บปวดเมื่อพบว่าความรุนแรงทุกชนิดมีปืนอาก้าเป็นอาวุธหลัก ผมคิดผลิตปืนชนิดนี้ขึ้นมาเพื่อป้องกันประเทศ ไม่ใช่ให้เอาไปรุกรานใคร
คาลาชนิคอฟไม่ได้มีชีวิตที่ร่ำรวยหรูหรา ทางการรัสเซียจัด อพาร์ตเมนต์ขนาดกะทัดรัดริมทะเลสาบให้เขาพักอาศัย มีรถยนต์คันเล็กๆ ขับไปทำงาน เขามิได้ร่ำรวยจากสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า ปืนอาก้าแม้แต่น้อย เพราะใครๆ ก็เอาไปทำเลียนแบบได้ไม่ยาก
ชาวรัสเซียอัจฉริยะผู้นี้กล่าวกับนักข่าวที่เคยไปสัมภาษณ์ว่าชีวิตเขาพอมีพอกิน ชาวตะวันตกหลายคนมักบอกกับเขาว่า ถ้าเขาไปทำงานแบบนี้ในโลกตะวันตก คงกลายเป็นมหาเศรษฐีไปแล้ว ซึ่งเขาตอบกลับไปว่า สิ่งที่เขาได้รับทุกวันนี้ “คือคุณค่าทางจิตใจ”
“หากไม่มีสงคราม ผมคงคิดผลิตเครื่องมือการเกษตรให้ชาวนา ต้องตำหนินาซีเยอรมัน ที่บังคับให้ผมกลายเป็นนักออกแบบปืน” นายพลผู้คิดประดิษฐ์ปืนอาก้ากล่าวทิ้งท้าย
พล.ท.มิกคาอิล คาลาชนิคอฟ เสียชีวิตอย่างสงบเมื่อ 23 ธันวาคม พ.ศ.2556 ในวัย 94 ปีในประเทศรัสเซีย ซึ่งประธานาธิบดีปูตินได้เดินทางมาร่วมในพิธีและคารวะศพของอัจฉริยะวีรบุรุษรัสเซียท่านนี้
เรียบเรียงโดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก