top of page

การนำประเทศไทยก้าวสู่ยุค 4.0


การนำประเทศไทยก้าวสู่ยุค 4.0 มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเตรียมคนให้พร้อม ซึ่งแน่นอนว่าต้องย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างคนนั่นคือ การศึกษา ที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เป็นการศึกษา 4.0 ด้วย

วิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จึงร่วมกับ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และศูนย์หนังสือจุฬาฯ จัดเสวนาเรื่อง "การศึกษา 4.0 เป็นยิ่งกว่าการศึกษา" โดยมี รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีกิตติคุณ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์, ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา และ ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ อาจารย์อาวุโส วิทยาลัยครุศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นวิทยากรในการประมวลแนวคิดแนวปฏิบัติ และทิศทางการดำเนินงานของการศึกษา 4.0 ในประเทศไทย หวังลดความเหลื่อมล้ำ

"รศ.ดร.วรากรณ์" ให้ข้อมูลว่า ไทยแลนด์ 4.0 เป็นโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ต้องการสื่อให้เห็นว่าประเทศกำลังก้าวสู่เศรษฐกิจแบบใหม่ที่ทำให้มีรายได้ต่อหัวสูงให้เกิดขึ้นภายใน5-6ปีดังนั้นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจให้กลายเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ด้วยการเร่งพัฒนาวิทยาการ ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม แล้วต่อยอดสู่กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย

"คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าการศึกษา 4.0 คือการศึกษาที่ทันสมัย หรือหากมองในมิติของการพัฒนาคนคือการสร้างคนให้มีสมรรถนะ มีแคแร็กเตอร์ และคุณสมบัติอื่น ๆ สอดรับกับศตวรรษที่ 21 ผมจึงอยากให้มองในแง่ของการพัฒนาคนให้มีคุณภาพมากกว่าการผลิตคนออกมาเป็นวัตถุดิบทางเศรษฐกิจ" อาจกล่าวได้ว่าสังคมต้องมองถึงความหมายของการศึกษา4.0ในภาพกว้างว่าสามารถเป็นเครื่องมือปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมเพื่อสร้างคนที่มีคุณภาพ และสามารถอยู่ดีกินดีได้ ซึ่งทำให้เกิดความสมดุลในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม หากการศึกษาสามารถแก้ปัญหาสังคมได้ จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้การศึกษา 4.0 เป็นมากกว่าการศึกษา ตั้งโจทย์พัฒนาประเทศ

ขณะที่ฝั่งของผู้เกี่ยวข้องกับนโยบายการศึกษา"ดร.กมล"กล่าวว่าได้นำเรื่องไทยแลนด์4.0 มาเป็นตัวตั้งในการวางแผนยุทธศาสตร์ ซึ่งแบ่งเป็น 2 มิติ คือ แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี และภารกิจเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับ 5 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่

1) คนที่มีความสามารถพิเศษ (Gifted) ผลักดันให้เกิดการสร้างผลิตภาพและนวัตกรรมใหม่ ๆ

2) อาชีวศึกษาต้องพัฒนาคนกลุ่มนี้ให้มีทักษะที่สามารถทำงานจริงได้ทันที และสอดรับกับคุณลักษณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมต้องการ

3) มหาวิทยาลัย ต้องมีการวิจัยและพัฒนา สร้างคนที่มีคุณภาพ และผลิตงานวิจัยที่สร้างประโยชน์สู่การสร้างประเทศไทยในยุคของนวัตกรรม

4) ผู้สูงอายุ คนกลุ่มนี้ยังสามารถใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์มาพัฒนาประเทศ และต้องดูแลตัวเองให้ได้ ซึ่งในต่างประเทศมีหลายหลักสูตรสำหรับสนับสนุนผู้สูงอายุให้มีความรู้ความสามารถ และอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ และ

5) แรงงานขั้นต่ำ รัฐต้องยกระดับสมรรถนะ และฝีมือแรงงานคนกลุ่มนี้ให้มีคุณภาพ "กลุ่ม Gifted เรามีการจัดระบบข้อมูลผู้มีความสามารถพิเศษ และนำพวกเขามาอบรม พัฒนาให้มีขีดความสามารถขั้นสูง แล้วมอบหมายโครงงานสร้างนวัตกรรมตามความต้องการของประเทศ พร้อมจัดระบบสนับสนุนอย่างชัดเจน ส่วนกลุ่มอาชีวะจะเปิดหลักสูตรที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน เน้นการเรียนรู้ที่นำไปสู่การเป็นผู้ประกอบการ และผู้ปฏิบัติงานในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นฐานผลิตใหม่ของประเทศ

" สำหรับกลุ่มมหาวิทยาลัย "ดร.กมล" บอกว่า ได้มีการวางไว้ว่าให้มหาวิทยาลัยหาจุดเด่นของตัวเอง เพื่อเป็นแกนกลางในการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยมหาวิทยาลัยต้องเตรียมความพร้อม และรับผิดชอบความต้องการของพื้นที่นั้น ๆ ในการพัฒนาจังหวัดให้มีประสิทธิภาพและเข้มแข็ง กระตุ้นผู้เรียนสร้างผลผลิต

ในมุมมองของ"ศ.ดร.ไพฑูรย์"ได้แนะนำสถานศึกษาถึงการศึกษา4.0ว่าควรเน้นให้เด็กเติบโตตามศักยภาพ และสามารถสร้างผลผลิต หรือแนวคิดที่เกิดประโยชน์เชิงนวัตกรรม ซึ่งการศึกษาของไทยต้องเป็นการสอนให้เด็กมีความรู้และความเข้าใจ สามารถวิเคราะห์ได้และทำงานเป็น โดยเด็กแต่ละคนควรสร้างผลผลิตให้ได้ตามความเหมาะสมกับระดับการเรียนรู้ของเขาผ่านกระบวนการสืบค้นหรือวิจัยแล้วเกิดการปฏิบัติที่นำไปสู่การสร้างผลผลิตออกมาใช้ประโยชน์อันเป็นจุดเริ่มต้นของการมีนวัตกรรมใหม่ๆ

"เราต้องให้โอกาสเด็กได้พิจารณาดูว่าสิ่งที่เขาเห็นนั้นจะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างไร โดยต้องเสริมสร้างหลักการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงมี Productive Mind ที่เด็กสามารถเรียนรู้กระบวนการสร้างงาน เพราะการทำให้เกิดการศึกษา 4.0 แนวทางสำคัญคือการเตรียมคน ครูจึงต้องผลักดันให้เด็กได้คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ เริ่มด้วยการสำรวจตัวเอง เรียนรู้ และสร้างผลผลิต"

"ศ.ดร.ไพฑูรย์" เสนอว่าผู้สอนต้องเปลี่ยน Mindset ว่าการศึกษาไม่ใช่การเรียนเพื่อให้เด็กสอบได้คะแนนสูง เพราะเป็นกรอบความคิดที่ทำให้เด็กอยู่ในที่จำกัด โดยต้องเปิดโอกาสให้เด็กมีเสรีภาพในการแสดงออกตามความถนัดของตัวเอง แล้วครูต้องส่งเสริมศักยภาพนั้น ๆ อันนำไปสู่การสร้างผลผลิต ทั้งนั้น ผู้สอนต้องสร้างให้เด็กวิเคราะห์ สร้างสรรค์ และมีความรับผิดชอบต่อสังคมไปพร้อมกันด้วย จึงจะทำให้การศึกษาไทยก้าวสู่ยุค 4.0 อย่างแท้จริง

ขอบคุณที่มาจาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 15 ก.พ. 2560 อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : http://www.kroobannok.com/81288

Recent Posts
bottom of page