top of page

ถอดบทเรียน “เวลท์เอเวอร์” รู้เท่าทัน ธุรกิจลวงโลก

จากกรณีที่มีผู้เสียหายกว่า 1,500 คน ซื้อทัวร์จากบริษัท เวลท์เอเวอร์ (WealthEver) ถูกลอยแพที่บริเวณผู้โดยสารขาออก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หลังจ่ายเงินค่าทัวร์ไปประมาณ 15,000 – 20,000 บาท เพื่อไปเที่ยวญี่ปุ่นแบบเช่าเหมาลำตามโปรโมชั่นของบริษัท แต่พบว่าไม่มีรายชื่อผู้โดยสาร อีกทั้งประธานกรรมการบริษัท เวลท์เอเวอร์ “ซินแส โชกุน” น.ส. พสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ หรือชื่อเดิม น.ส.ศรัณย์พัชร์ กิติขจรพัชร์ หรือ น.ส.ภวิศ ภูริภัทร์เมฆินทร์ หายตัวไป มีแต่คลิปเสียงระบุว่าขอประกาศยกเลิกโปรโมชั่นการเที่ยวญี่ปุ่นทุกคน อ้างว่าถูกรวมตัวกันไปแจ้งความ หรือไปลงชื่อทำให้เกิดสถานการณ์ความวุ่นวายแล้วมีผลในการที่ไม่สามารถนำเครื่องบินมาได้

กระทั่งในเวลาต่อมาทางกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง ได้ออกมาชี้แจงโดยระบุว่าจากการตรวจสอบทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรง ไม่พบว่าบริษัทดังกล่าวได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจขายตรงจาก สคบ. แต่อย่างใด

อีกทั้งการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการนำเที่ยว ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 ซึ่งนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ไม่สามารถรับจดทะเบียนให้ประกอบธุรกิจขายตรงได้

อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่าบริษัท เวลท์เอเวอร์ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา ทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 88/6 หมู่ 9 ต.หนองยาว อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ หมวดธุรกิจ การขายส่งเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ วัตถุประสงค์ ประกอบกิจการและจำหน่าย นำเข้า-ส่งออก น้ำดื่ม ชา กาแฟ โดยมี น.ส.พสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ เป็นกรรมการบริษัท

แต่สิ่งที่ “ซินแสโชกุน”ได้ระบุในตอนหนึ่งของคลิปเสียงว่า การจัดโปรโมชั่นดังกล่าว เป็นการที่บริษัทพาลูกทีมไปเที่ยวนั้น เท่ากับยืนยันว่า บริษัท เวลท์เอเวอร์ เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจในลักษณะขายตรง หรือธุรกิจเครือข่าย

ดังนั้นหลังจากนี้หากใครที่ต้องการจะเข้าร่วมธุรกิจเครือข่ายจึงต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนเสียก่อน

สำหรับความแตกต่างของธุรกิจเครือข่ายกับแชร์ลูกโซ่นั้น สามารถจำแนกได้ด้วย

1. ดูที่เจตนาว่าเป็นการนำเสนอสินค้าเป็นหลักหรือเน้นชักชวนให้คนนำเงินมาลงทุน

2.ค่าธรรมเนียมที่ต้องสมเหตุสมผล

3. คนในทุกระดับสามารถสมัครเป็นสมาชิกได้

4.มีการบังคับให้ซื้อสินค้าคราวละมากๆหรือไม่ โดยให้เหตุผลว่าเป็นการทำยอดเพื่อได้รับผลตอบแทนที่สูง ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมของแชร์ลูกโซ่

5. สินค้ามีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง หรือมีราคาแพงกว่าท้องตลาดหรือไม่

6. หากเป็นแชร์ลูกโซ่ จะมีแผนการตลาดแบบเงินต่อเงินหรือระดมทุน โดยไม่สนใจรายได้ที่เกิดจากการสั่งซื้อสินค้าซ้ำ เน้นให้หาคนใหม่เข้ามาเรื่อยๆ เมื่อทำไปแล้ว ยอดขายไม่ถึงเป้าก็อาจจะไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ เลย และมีการบังคับให้รักษายอดด้วยวงเงินสูงๆ หากไม่สามารถชวนคนมาสมัครได้ หรือสมัครแต่ไม่ซื้อสินค้า รายได้จะลดลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งไม่มีหลักฐานการจ่ายเงิน และไม่มีระบบการเสียภาษีที่ชัดเจน

ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก สคบ.

แหล่งข้อมูล

ที่มา : Thaiquote ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค Thaiquote.org https://www.facebook.com/thaiquote.org ทวิตเตอร์ @ThaiQuoteORG


Recent Posts
bottom of page